เลือก “สกลนคร” ใช้ปลูกกัญชาได้ ถูกกฎหมายแห่งแรกในไทย


สภาเกษตรกรแห่งชาติ เลือก จ.สกลนคร เป็นพื้นที่ปลูกกัญชาถูกกฎหมายแห่งแรกในไทย หวังศึกษาเป็นยารักษาโรค

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 (กัญชา) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2560 หลังพบว่ากัญชามีคุณประโยชน์สามารถนำมาสกัดเป็นยารักษาโรคได้นั้น
     วันที่(15 ม.ค. 61) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงานป.ป.ส.) และกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเลือกพื้นที่ จ.สกลนคร เป็นพื้นที่แรกของประเทศในการปลูกกัญชาเพื่อนำมาสกัดเป็นยาตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดยสาเหตุที่เลือก จ.สกลนครนั้น เป็นเพราะเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์พืชกัญชาที่ดีที่สุดในอดีตและในประวัติศาสตร์ได้มีการพูดถึงหลายครั้ง แม้แต่ตอนนี้เองในป่าเขาก็ยังมีต้นกัญชาที่ยังขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ถึงแม้จะมีกฎหมายหวงห้ามแต่ธรรมชาติก็ยังดำรงอยู่ จึงจะใช้พื้นที่ของ จ.สกลนครเป็นพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมการปลูกพืชกัญชา
     เบื้องต้นจะประกาศ ใช้พื้นที่นำร่อง 5,000 ไร่ ให้อยู่ในเขตทหารก่อนซึ่งจะทำให้ควบคุมได้ง่าย พร้อมทั้งต้องตั้งกรรมการควบคุมให้ใกล้ชิดเพื่อป้องกันการหลุดรอดของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ พร้อมกันนี้นอกจากจะนำกัญชามาสกัดเป็นยาแล้ว การทดลองปลูกดังกล่าว จะเป็นการศึกษาในเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อเพิ่มความหลากหลายด้านเศรษฐกิจให้ประเทศด้วย
     นายประพัฒน์ กล่าวว่า วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ สภาเกษตรกรฯ ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ป.ป.ส. อย. จัดเวทีวิชาการเรื่อง “กัญชาเป็นยารักษาโรค” ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ โดยมีนักวิชาการ , แพทย์ , นักกฎหมาย และผู้เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ จากนั้นภายในเดือนมีนาคม สภาเกษตรกรฯจะจัดเวทีวิชาการเรื่อง “พันธุกรรมของกัญชา” เนื่องจากกัญชาเป็นพืชเมืองร้อน พันธุกรรมและสรรพคุณทางยาที่ดีจะอยู่ในเขตเมืองร้อนทั้งนั้น ซีกโลกตะวันตกไม่มี เพราะสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศเหมาะสมกับการขึ้นตามธรรมชาติของต้นกัญชา พร้อมทั้งการสร้างตัวยานั้น มีคุณค่าและปริมาณสูง
     ขณะนี้ได้ส่งออกตัวยาแล้ว ซึ่งสาร THC หรือสารตัวยาจะต่ำ ความเข้มข้นน้อย บ้านเรามีความเข้มข้นมากกว่าเยอะ หลายประเทศอยู่ระหว่างที่จะทำ ประเทศไทยอาจช้าแต่มีโอกาสมากกว่าและศักยภาพสูงกว่า ต้นทุนถูกกว่า ไม่ต้องปลูกในมุ้ง , โรงเรือน ต่างประเทศต้องทำโรงเรือน ต้นทุนจึงสูงมาก ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่สำหรับการสร้างเศรษฐกิจ เป็นหลักการเรื่องฐานเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีได้พยายามทำเรื่องนี้มานาน นี่คือรูปธรรมหนึ่งของการทำให้ประเทศนี้ไปสู่ความหลากหลายของเศรษฐกิจ ด้วยฐานชีวภาพที่หลากหลายของตัวเอง

ที่มา.news.mthai.com/general-news/610976.html, khaosod.co.th/special-stories/news_707744

ความคิดเห็น