หนุ่มสิงห์บุรี ลาออกจากงานมาดูแลพ่อป่วย หัวคิดดีเลี้ยงปูนา บังคับผสมพันธุ์ปีละ 3 ครั้ง โกยเงินล้าน

หลังผู้เป็นพ่อพลัดตกต้นไผ่ความสูงเกือบ 2 เมตร แถมแม่ก็ป่วย ทำให้ “ปานศิริ ปาดกุล” หรือตูมตาม ลูกชายคนเดียวในวัยเพียง 22 ปี ต้องกลายเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัว เคยลำบากแม้กระทั่งไม่มีเงินซื้อข้าวสารกิโลกรัมละ  33 บาท เคยเป็นหนี้นอกระบบ ต้องทำสารพัดอาชีพแต่สุดท้ายจับทางถูก หันมาเลี้ยงปูนา บังคับผสมพันธุ์ปีละ 3 ครั้ง ส่งขายร้านอาหาร บางเดือนสร้างรายได้หลักล้านบาท
คุณตูมตาม เล่ากับเส้นทางเศรษฐีว่า หลังจบปริญญาตรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ทำงานที่แรกในแผนกบัญชี บริษัทแห่งหนึ่ง จากนั้นย้ายไปอยู่โรงงานผลิตอะไหล่โทรศัพท์มือถือที่จังหวัดปทุมธานี ทำงานประจำได้ราว 5 เดือน ก็ลาออก เพราะต้องกลับบ้านเกิดที่จังหวัดสิงห์บุรีไปดูแลพ่อซึ่งประสบอุบัติเหตุขาหัก เดินไม่ได้
“ผมทำงานประจำ รับเงินเดือน 2 หมื่นบาท อยู่ราว 5 เดือน พอรู้ว่าพ่อในวัย 60 ปี ประสบอุบัติเหตุตกต้นไผ่ความสูงกว่า 2 เมตร ก็เลือกที่จะลาออก แล้วกลับบ้านมาดูแล พร้อมกับแบ่งเบาภาระบุพการี ด้วยการเป็นเสาหลักหารายได้เลี้ยงปากท้อง 3 คน”
ในเบื้องต้นเด็กหนุ่มอนาคตไกลใช้เงินเก็บที่มีอยู่ซื้ออาหารและสิ่งจำเป็น ทว่าผ่านไปซักระยะ เงินเก็บเริ่มไม่พอ คราวนี้ต้องไปกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบ  ตูมตามบอกว่า เนื่องจากพ่อเดินไม่ได้ ต้องกินอาหารผ่านสายยางอยู่ 5 เดือน แม่ก็ป่วย ขณะที่ทั้งบ้านเหลือเงินเพียง 1,000 บาท
เงินติดตัวเพียง 1,000 บาทสุดท้าย เด็กหนุ่มใช้วิธีนำไปลงทุนขายไก่ย่าง หมูปิ้ง เจ้าตัว บอกว่า ขายดี พอมีรายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัว  ทว่าขายไปสักระยะเริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น ในที่สุดจำต้องเลิกขาย แล้วหันมาใช้วิธีพรีออเดอร์สินค้า ผ่านเฟซบุ๊ก กินกำไรส่วนต่าง
“ผมเลิกขายหมูปิ้ง ไก่ย่าง แล้วหันมาใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กด้วยการรับพรีออเดอร์สินค้าจำพวกผักสด ปลา เอากำไรกิโลกรัมละ 20 – 30 บาท”
ตูมตาม บอกเส้นทางเศรษฐีว่า รายได้จากการพรีออเดอร์สินค้าจำพวกอาหารสดค่อนข้างดี มีเงินหมุนเวียนในครอบครัวแต่ละเดือนเป็นหมื่น แต่นานวันอยากหาความยั่งยืนให้กับชีวิต และแล้วจู่ๆ ก็คิดเลี้ยงปูนาขึ้นมา
“ในตลาดมีคนรับพรีออเดอร์สินค้ามากขึ้น ผมเลยคิดว่าอยากจะขยับขยายหาอาชีพอื่นที่มั่นคงกว่า ประกอบกับส่วนตัวชอบกินปูนามาก (ปูที่ใส่ส้มตำ) เคยไปหาตามท้องนา 5-6 ชั่วโมง ไม่สามารถหาได้ เลยเกิดความคิด จะเลี้ยงขาย”
ด้วยความชอบกินปูนา ตูมตาม บอกว่า ใช้เงินเก็บที่มีอยู่จากการรับพรีออเดอร์สินค้า 2 หมื่นบาท ลงทุนเลี้ยงปูนาในบ่อปูน บนที่ดินที่มีอยู่ 1ไร่ 44 ตารางวา  สั่งปูนา คละไซซ์มาจากหลายจังหวัด ครั้งแรกราว 4 ตัน
การเลี้ยงปูนาครั้งแรกของตูมตามนั้นไม่สำเร็จ เด็กหนุ่ม บอกเส้นทางเศรษฐีว่า ตายหมดเลย 4 ตัน  เนื่องจากว่าเลี้ยงในบ่อปูน ซึ่งมีความเย็น อีกทั้งใส่น้ำประปาลงไปอีกมีคลอรีน ปูนาปรับสภาพไม่ทัน ตายเกลี้ยง
ด้วยความไม่ยอมแพ้ และกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม คราวนี้ตูมตามสั่งปูนามาเลี้ยงอีกครั้ง แต่เขาพัฒนาด้วยการเลือกซื้อพ่อแม่พันธุ์ปูนามาเลี้ยงแทนการซื้อตัวเล็ก เพราะปูนาตัวเล็กจะบอบบางตายง่ายกว่าพ่อแม่พันธุ์ ปัจจุบันเลี้ยงปู 2 สายพันธุ์  คือ ปูนาธรรมดา ตัวจะมีขนาดเล็ก และ ปูนาพันธุ์กำแพง ตัวใหญ่ รสชาติมัน
ปล่อยปูนาครั้งแรกควรให้อยู่ในบ่อดิน

การเลือกปูนามาเลี้ยง ให้เลือกซื้อพ่อแม่พันธุ์ปูนามาเลี้ยงแทนการซื้อตัวเล็ก เพราะปูนาตัวเล็กจะบอบบางตายง่ายกว่าตัวใหญ่ที่พร้อมเป็นพ่อแม่พันธุ์ อีกทั้งเมื่อพ่อแม่พันธุ์ออกลูกจะได้กำไรมากว่าการซื้อตัวเล็กไปขุนเลี้ยงจำหน่าย

การเลี้ยงปูนา เมื่อได้ปูนาพ่อแม่พันธุ์มาแล้ว ให้นำมาปล่อยลงในบ่อได้เลยประมาณ 50-70 คู่/บ่อ ขนาดบ่อ 2×3 เมตร หรือประมาณ 100-140 ตัว (ถ้าเป็นลูกปูนาอนุบาลในวงบ่อซีเมนต์ขนาด 2×2 เมตร เลี้ยงได้ประมาณ 10 แม่ [1,000 ตัว ต่อ 1 แม่] หรือประมาณ 10,000 ตัว) โดยแนะนำว่าให้เลี้ยงในบ่อดินก่อน ใส่น้ำให้ดินแฉะๆ เพื่อให้ปูนาปรับตัวให้ชินกับสภาพอากาศและพื้นที่ ลดอัตราการตายได้ เลี้ยงจนปูนาเริ่มกินอาหารได้ประมาณ 3-5 วัน แล้วสามารถย้ายไปอยู่บ่อปูนได้ในภายหลัง “ถึงแม้ผมจะเลี้ยงปูนาในบ่อปูน แต่ถ้าซื้อไปเลี้ยงก็ควรเลี้ยงในบ่อดินก่อน เพราะบ่อปูนของเจ้าของฟาร์มถูกปรับค่าของน้ำมาเหมาะสมแล้วปูนาจึงอยู่ได้ แต่ในบ่อปูนของลูกค้าไม่รู้เลยว่ามีค่าของน้ำเท่าไหร่ ดังนั้น ถ้าเลี้ยงในบ่อดินก่อนจะปลอดภัยเรื่องการตาย แม้ตายก็ตายน้อยครับ” คุณตูนเพิ่มเติม
การให้อาหาร สำหรับพ่อแม่พันธุ์ เจ้าของฟาร์ม จะให้อาหารวันละ 2 มื้อ ช่วงเช้ามืดไม่ต้องมากและให้ช่วงมืดอีกครั้ง เป็นอาหารปลาดุกเม็ดเล็กโปรตีน 32 ให้ตามพื้นดินวางไว้ตามจุดเดิมทุกวัน 2-3 จุด เมื่ออาหารเม็ดโดนน้ำและดินก็จะละลาย ตกกลางคืนและช่วงเช้ามืดปูนาก็จะออกมากินกันอย่างเพลิดเพลิน โดยปริมาณอาหารที่ให้ดูจากปริมาณที่ให้ไปถ้าไม่เหลือแสดงว่าพอดี แต่ถ้าเหลือคราวหน้าให้ลดอาหารลง ถ้ามีเวลาจะเพิ่มอาหารเสริมจากรำผสมกับอาหารที่ให้ประจำ หรือรำผสมกับต้นกล้วยสับที่ให้หมูกินก็ได้เช่นกัน
ส่วนลูกปูนาลงเดินให้อาหารวันละ 1 มื้อ ในช่วงเช้า จะให้กินไข่แดงต้ม วางตามจุดแล้วใส่น้ำซาวข้าวลงไปในบ่อเล็กน้อย เพื่อให้ลูกปูได้สารอาหารโตเร็วขึ้น (ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ แต่แนะนำเป็นไข่เป็ดเพราะสารเร่งโตจะน้อยกว่าไข่ไก่ ลูกปูรับไม่ไหว) ให้กินแบบนี้ 1 สัปดาห์ จึงเปลี่ยนเป็นไข่แดงต้มจากไข่ไก่กับน้ำซาวข้าวได้ ลูกปูจะโตเร็ว จนครบ 1 เดือน ให้กินแต่ไข่แดงอย่างเดียว หลังจากนั้น 3 เดือน ให้เปลี่ยนมากินอาหารปลาดุกเม็ด

สำหรับเทคนิคบังคับผสมพันธุ์ปีละ 3 ครั้ง ตูมตามเผยว่า โดยปกติปูนาจะออกลูกเพียงปีละ 1 ครั้ง ช่วงประมาณต้นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนแต่เพื่อให้มีปูจำหน่ายตลอดทั้งปี ผมบังคับให้ปูผสมพันธุ์และออกลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง วิธีการคือ หลังจากปูนาออกลูกไปแล้วในช่วงฤดูฝน ให้ปล่อยดินแห้งแตกระแหง  จากนั้นให้ฉีดน้ำเข้าไปเต็มที่ ทำให้ปูนาคิดว่าเข้าฤดูฝนอีกครั้งก็จะออกมาผสมพันธุ์กันเอง
วิธีการขยายพันธุ์ปูนาแบบมืออาชีพ หากเวลาปกติคุณตูนจะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไว้ในบ่อดินรวมกัน เมื่อแม่พันธุ์ไข่จะย้ายมาอยู่ในบ่อปูน ลักษณะแม่ปูนาที่ไข่หน้าท้องจะขยายออก เผยอออก นอกจากจับขึ้นมาดูจะเห็นแล้วนั้น หากชำนาญให้สังเกตช่วงเวลากลางคืนที่แม่พันธุ์อยู่ในรูแล้วพ่อพันธุ์อยู่ปากรู อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะมีไข่ก็จับย้ายได้แน่นอน เมื่อย้ายแล้วให้เลี้ยงจนแม่ปูนาสลัดลูกลงเดิน (ไม่เกิน 1 เดือน) แล้วเลี้ยงลูกกับแม่ในบ่อเดียวกันต่ออีกประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นย้ายตัวแม่กลับเข้าไปอยู่ในบ่อพ่อแม่พันธุ์เหมือนเดิม พร้อมกับเลี้ยงลูกปูนาต่อไปอีกประมาณ 2 เดือน จึงแยกออกไว้อีกบ่อเพื่อให้ง่ายต่อการจำว่าปูอายุกี่เดือน ที่สำคัญลดความแออัดในบ่อลง เดือนที่ 3 ก็แยกออกไว้อีกบ่อเช่นเดิม จนเดือนที่ 4 ให้คัดตัวที่เหมาะเป็นพ่อแม่พันธุ์จับแยกไว้อีกบ่อตามอัตราดังที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเลือกตัวที่ใหญ่สมบูรณ์ เพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์กันขึ้น และเข้าสู่กระบวนการแรกอีกครั้งวนไป
ด้านการตลาด ขายทั้งปูนาสดและแปรรูปเป็นปูดอง กะปิปู เพิ่มมูลค่าสินค้า สมัยแรกคุณตูนบอกว่าตนเองวิ่งหาแหล่งส่งตามตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง แต่ไกลเกินไปไม่คุ้มค่าเดินทาง จากนั้นก็เริ่มเข้าไปติดต่อตามร้านอาหารเห็นก้ามปูผัดฉ่าราคาสูงมาก จึงเกิดไอเดียส่งก้ามปูให้กับทางร้านอาหาร วันละ 10-20 กิโลกรัม นอกจากนี้ก็ค่อยๆ เจาะไปแต่ละแหล่งจนเจอคนทำปูดอง ส่งปูนิ่มเข้าภัตตาคาร ปัจจุบันจึงจำหน่ายปูนาหลายรูปแบบ ทั้งพ่อแม่พันธุ์ปูนาพันธุ์กำแพงคู่ละ 100 บาท (พ่อแม่พันธุ์อายุ 9-10 เดือนขึ้นไป ตัวผู้หนักประมาณ 1.5-2 ขีด และตัวเมียหนัก 1.2-1.5 ขีด) และจำหน่ายปูนาสำหรับไว้รับประทานด้วย เช่น ก้ามปูกิโลกรัมละ 1,000 บาท (ประมาณ 50 ตัว/กิโลกรัม) ปูนิ่ม กิโลกรัมละ 1,200 บาท (ประมาณ 5-8 ตัว/กิโลกรัม) ปูนาพันธุ์เล็กกิโลกรัมละ 80 บาท
 มีพ่อค้ามารับที่หน้าฟาร์ม บางเดือนสร้างรายได้หลักล้านบาท “ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาซื้อผมจะถามก่อนว่าเอาไปทำอะไร ถ้าเอาไปขายต่อในตลาดไปทำปูดอง จะขายปูนาธรรมดาพื้นบ้านไป แต่ถ้าจะซื้อเพื่อไปขยายพันธุ์เลี้ยงต่อจะขายปูนาพ่อแม่พันธุ์กำแพงให้ครับ” นอกจากนี้เจ้าตัวยังแปรรูปปูนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็น “ปูดอง” ตัวละ 5 บาท กระปุกละ 60 บาท (12 ตัว) ทำเป็น “กะปิปูนา” ใช้เนื้อปูล้วนๆ ไม่มีก้ามปูเพราะจะทำให้กะปิดำ รสชาติอร่อยกว่ากะปิกุ้ง แต่จะมีจำหน่ายที่ฟาร์มอย่างเดียว เนื่องจากกะปิปูนาไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย จึงจำเป็นต้องใส่ไว้ในตู้เย็นตลอด หากวางจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ จะเสียง่ายถ้าไม่ได้อยู่ในตู้เย็น ทั้งนี้ ถ้าซื้อไปแล้วนำออกมาปรุงอาหารเก็บใส่ตู้เย็นเหมือนเดิม จะอยู่ได้นานประมาณ 1-2 เดือน ถ้าไม่แช่ตู้เย็นอยู่ได้ 3-5 วัน


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “คุณปานศิริ ปาดกุล” เลขที่ 71/2 หมู่ 3 ตำบลโพทะเล อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี 16150 โทร.08-5420-3813


ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชน เส้นทางเศรษฐี ออนไลน์, kaset.nakaintermedia.com

ความคิดเห็น