องค์พระธาตุพนมตั้งตระหง่านสูงเด่นเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมาเป็นเวลานานนับพันปี จากหลักฐานโบราณคดี องค์พระธาตุพนมสถาปนาขึ้นมาราวพุทธศตวรรษที่ 12-14
ตลอดเวลาที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง หลายยุค หลายสมัย วัสดุก่อสร้างต่างๆ ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ประกอบกับมีการบูรณะเสริมสร้างโดยการต่อยอดหลายครั้ง ไม่ได้มีการแก้ไขโครงสร้างส่วนฐานแต่อย่างใด ทำให้ฐานส่วนล่างต้องรับน้ำหนักจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.2483-2484 ได้มีการทำรูระบายอากาศรอบด้านในส่วนยอดองค์พระธาตุ รูอากาศนี้ทำให้ฝนไหลเข้ามา แต่ส่วนล่างไม่มีทางระบายน้ำออก
ส่วนยอดองค์พระธาตุจึงกลายสภาพเป็นที่เก็บน้ำแล้วค่อยๆ ซึมเซาะอิฐภายในให้เปื่อยยุ่ย องค์พระธาตุได้รับการกระทบกระเทือนมาก เมื่อได้เกิดแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม พ.ศ.2518 เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ลามจากส่วนบนที่เริ่มปริร้าวลงมายังฐาน องค์พระธาตุพนมก็เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าช่วงฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลารอยร้าวที่มีแต่เดิมเริ่มแยกออกกว้างขึ้น
วันที่ 11 สิงหาคม ตอนเช้าฐานพระธาตุพนมด้านทิศตะวันออก ผนังปูนตรงลวดลายประตูจำหลัก ซึ่งอยู่กึ่งกลางตลอดถึงส่วนที่เป็นซุ้มทรงบายศรี ปูนกะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่น เป็นระยะๆ และมากขึ้นเรื่อยๆ จนมองเห็นเศษปูนกองอยู่ที่พื้นฐานเจดีย์ทั่วไป รอยแตกแยกเริ่มขยายกว้างมากขึ้น
ล่วงมาถึงเวลาเย็น บริเวณที่อิฐร่วงหล่นลงมาในตอนเช้าก็เริ่มหลุดร่วงอีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ อิฐที่หลุดเป็นรอยลึกเข้าไปในฐาน เมื่ออิฐหลุดร่วงจะได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในองค์พระธาตุส่วนฐานนั้นเป็นระยะ มองดูอิฐที่ร่วงลงมาแล้วใจหาย
แม้แต่เสียงที่ได้ยินจะเป็นสัญญาณอันตรายเตือนให้รู้ล่วงหน้าว่า องค์พระธาตุพนมอาจจะโค่นล้มลงมาเวลาหนึ่งเวลาใดก็ตาม ผู้คนผลัดเวียนมาดูกันมาก เฝ้าสังเกตการณ์องค์พระธาตุอย่างใจจดใจจ่อ วิตกวิจารณ์คาดการณ์กันไปต่างๆ นานา ทุกคนหวั่นวิตกต่อเหตุการณ์เบื้องหน้า
แต่ก็ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดกล้าคิดว่าพระธาตุพนมที่สูงตระหง่านจะโค่นล้ม ทั้งนี้เพราะต่างมีความมั่นใจว่า องค์พระธาตุพนมนี้เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ย่อมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองปกปักรักษาถึงจะชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ก็คงสามารถซ่อมแซมให้ดีขึ้นดังเดิมได้
ขณะนั้นเมื่ออิฐร่วงลงมาเป็นระยะๆ ทะลวงลึกเข้าไปเป็นช่องเหมือนถูกคว้านให้เป็นโพรงอยู่ภายในฐาน การหลุดร่วงของอิฐในตอนนี้มีทั้งอิฐและดินหล่นลงมา จนกระทั่งมองเห็นหินแท่งยาวแบนอยู่ภายในแท่งหิน ทำให้เข้าใจว่า ส่วนฐานขององค์พระธาตุพนมภายในเป็นดินมากกว่าอิฐหรือหิน องค์พระธาตุเอียงไปทางทิศตะวันออกจนเห็นได้ชัด
ครั้นถึงเวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์
สาเหตุการพังทลายขององค์พระธาตุพนม จึงเป็นสาเหตุสร้างรอยร้าวให้สะสมมากกว่า เหตุที่เกิดขึ้นในทันใด อาการพังทลายไม่ได้ทรุดที่ฐาน หากเริ่มจากยอดที่เป็นน้ำหนักในแนวดิ่งที่หนักมาก มากดคอบัวฐานชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ให้บิออกเป็นแนวฉีกลึกไปในเจดีย์ เพราะอิฐเปียกยุ่ยจากฝนตกติดต่อกันอย่างหนัก ต่อจากนั้นอิฐผนังที่ยุ่ยอยู่แล้วก็ค่อยๆ ทลายลงเป็นแถบๆ ยอดเจดีย์กดพุ่งลงมาตามแนวดิ่งหักลงเป็นท่อนๆ องค์พระธาตุได้ล้มฟาดลงมาทางทิศตะวันออก แตกหักออกเป็นท่อน 3 ตอน
ส่วนหนึ่งพระกรุพระธาตุพนมได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด เป็นพระกรุพระธาตุพนมสำหรับอนุชนได้ศึกษา อีกส่วนหนึ่งของพระกรุพระธาตุพนมให้นำเข้าถวายคืนแก่องค์พระธาตุรวม พระกรุพระธาตุพนม ทั้งวัตถุที่ประชาชนบริจาคเพิ่มเติมด้วย รวมแล้วมีวัตถุ พระกรุพระธาตุพนม ที่บรรจุไว้มี 30,000 ชิ้น
ธาตุพนม, นครพนม | Thatpanom, Nakon Phanom
ถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ.๒๕๑๘ )
Source: banmuang.co.th
Image Source: thatphanom.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น