ตำนาน พญานาค เส้นทางการท่องเที่ยวสายศรัทธา

           


 


 สกลนคร นครพนม บึงกาฬ 3 จังหวัด ตำนาน พญานาค เส้นทางการท่องเที่ยวสายศรัทธา


          การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกิจกรรมเศรษฐกิจหลักที่สามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันจังหวัดในอีสานกว่า 20 จังหวัด มีเมืองที่นับว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองหลักเพียง 2 เมืองเท่านั้น สะท้อนภาพการกระจุกตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวในอีสานชัดเจน

แล้วจุดขายของเมืองรองอีสาน ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว อยู่ที่ไหน ?

      วันนี้จะพาเปิดหนึ่งในกลุ่มเมืองรองอีสานที่โดดเด่นด้วยจุดแข็งด้านวัฒนธรรม และความเชื่อ “พญานาค” ตามนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ที่มุ่งผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก

          NAGA Legacy (นครพนม สกลนคร บึงกาฬ) ตามรอยตำนานศรัทธาพญานาค

เพื่อฉายภาพกระแสพญานาคให้ชัดเจนขึ้น ขอพาย้อนชมในรอบ 20 ปี ว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง

        อีสานเกิดพญานาค Fever ครั้งแรกที่เป็นกระแสไปทั่วประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2554 เมื่อมีข่าวว่าพญานาคโผล่ออกมาเล่นน้ำในบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ต่อหน้าต่อตาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนนับพันคน
       
        ต่อมาในปี 2560 พญานาคเป็นกระแสอีกรอบ ตามความเชื่อว่าปีนี้เป็นปีที่พญานาคมีอิทธิฤทธิ์และอำนาจเรืองรองที่สุดในรอบพันปี (ความเชื่อส่วนบุคคล) ส่งผลดีจากกิจกรรมการเดินทาง รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยจากสายบูชาพญานาค ไม่แปลกใจที่จะเห็นว่าบรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาต่างก็เดินทางไปกราบไหว้ขอพรกันอย่างหนาแน่น

และพญานาคยังได้รับแรงหนุนจากการผลักดันความเชื่อและวัฒนธรรมเข้าสู่ Mass market ผ่านจอแก้วใน “นาคี” ปี 2559 และภาคต่อผ่านจอเงิน “นาคี 2” ในปี 2561 ที่เผยแพร่ความเชื่อเรื่องพญานาคไปทั่วทุกภูมิภาครวมถึงต่างประเทศ

       แล้ว 3 หัวเมืองในอีสาน มีจุดแข็งอะไร ที่ทำให้รัฐบาล มองว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายพญานาค นั้นมีความสำคัญ

อย่างแรกที่ปฏิเสธไม่ได้คือตำแหน่งที่ตั้ง ที่อยู่บนสุดขวาของประเทศไทย ติดกับ สปป.ลาว แหล่งความเชื่อของวัฒนธรรมร่วมไทย-ลาว ที่นับถือพญานาคเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ กั้นกลางด้วยแม่น้ำโขง แหล่งน้ำสำคัญที่มีความเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการไถลตัวของพญานาค รวมถึงสะพานเชื่อมประเทศ “สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว” ถึง 2 แห่ง

ความเชื่อยังสะท้อนออกมาในรูปกิจกรรมวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวจาก Thailand Tourism Directory ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สะท้อนภาพแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด 161 แห่ง ใน 3 จังหวัด ซึ่งกว่า 40% เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในกลุ่มความเชื่อ ความศรัทธา สะท้อนจุดแข็งในการรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวในด้านนี้ชัดเจน ตามด้วยสถานที่ท่องเที่ยวในกลุ่มการท่องเที่ยวธรรมชาติ และการท่องเที่ยวชุมชนเชิงการเรียนรู้เป็นหลัก

       สถานที่ท่องเที่ยวด้านความเชื่อ ความศรัทธา เด่น ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัด เช่น ถ้ำนาคา ที่บึงกาฬ ลานพญาศรีสัตตนาคราช ที่นครพนม และวัดถ้ำผาแด่น ที่สกลนคร ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่แรก ๆ ที่ถูกนึกถึงเมื่ออยากท่องเที่ยว สักการะ หรือ เยี่ยมชม กับวัฒนธรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพญานาคในอีสาน

การดึงดูดการท่องเที่ยวโดยการใช้จุดแข็งด้านวัฒนธรรมและความเชื่อ โดยเฉพาะพญานาค ยังเป็นหนึ่งในประเด็นพัฒนาสำคัญที่ทั้ง 3 จังหวัด ให้ความสำคัญชัดเจน และพร้อมสนับสนุน โดยมีการบรรจุลงในแผนพัฒนาจังหวัดประจำรอบ 5 ปี 2566-2570 โดยมีใจความสรุปรวมได้ว่า ทั้ง 3 จังหวัด มุ่งเน้น ส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตอารยธรรมลุ่มน้ำโขง อย่างยั่งยืนให้สอดคล้องการท่องเที่ยววิถีใหม่ New Normal

แล้วสถานการณ์การท่องเที่ยวปัจจุบันใน 3 จังหวัดนี้เป็นอย่างไรบ้าง

       จำนวนผู้เยี่ยมเยือนล่าสุดสะสม 5 เดือน ปี 2567 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครพนม สกลนคร และบึงกาฬ อยู่อันดับที่ 7, 11, 15 ตามลำดับ มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนรวม 2.1 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 11% ของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งอีสาน โดยโครงสร้างผู้เยี่ยมเยือนใน 3 จังหวัด คือ คนไทย 95 คน ต่อ ต่างชาติ 5 คน

แต่เห็นการขยายตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวและเดินทางใน 3 จังหวัด ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงปกติก่อน COVID-19 ชัดเจน ที่ตลอดทั้งปี 2562 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 3.1 ล้านคน แต่ในปีที่แล้ว (2566) มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นชัดเจนเป็น 4.7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% รวมถึงสถานการณ์ในปี 2567 ที่ภาพรวมจำนวนผู้เยี่ยมเยือนสะสม 5 เดือนแรกมากถึง 2.1 ล้านคน สะท้อนแนวโน้มว่าตลอดทั้งปีน่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนทะลุ 5.1 ล้านคน

       อีกหนึ่งแรงหนุนที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อ คือ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในประเทศจากแบบสำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวของ ททท. ที่เริ่มมีแนวโน้มต้องการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น โดยอีสานเป็นภูมิภาคที่ 2 ที่นักท่องเที่ยวต้องการท่องเที่ยวเมืองรองมากที่สุดรองจากภาคเหนือ และส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวแบบค้างคืน สะท้อนผลดีต่อเนื่องถึงกลุ่มบริการโรงแรม ที่พัก รวมถึงกลุ่มบริการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม โดยนครพนม และบึงกาฬ ยังเป็นอันดับที่ 1 และ 3 ของจังหวัดเมืองรองอีสานที่นักท่องเที่ยวอยากมามากที่สุด โดยกว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวต้องการกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบโบราณสถาน/ศาสนสถาน/และที่ท่องเที่ยวในกลุ่มความเชื่อ

จากปัจจัยที่เล่ามาทั้งหมด ก็เป็นที่น่าสนใจว่า รัฐบาลจะออกกลยุทธ์ผ่านมาตรการหรือนโยบายใด ที่จะสามารถผลักดันทุก “เมืองรอง” เป็น “เมืองน่าเที่ยว” ได้มากน้อยขนาดไหน รวมถึงเมื่อสำเร็จแล้ว เมืองน่าเที่ยวจะเปลี่ยน NAGA Legacy ไปในทิศทางไหน

ความคิดเห็น